น้ำเต้าหู้ สูตรโฮมเมด เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เข้มข้น หอมมัน อร่อย สะอาดถ ถูกใจอย่างแน่นอน ก็เราทำเองอ่ะเนอะ มาดูส่วนผสมและวิธีทำกันเลยค่ะ
🥔 น้ ำ เ ต้ า หู้ สู ต ร เ ข้ ม ข้ น 🥔
น้ำเต้าหู้
ส่วนผสม
ถั่วเหลือง | 1 ½ | ถ้วยตวง |
ถั่วลิสง | ½ | ถ้วยตวง |
น้ำเปล่า | 6 | ถ้วยตวง |
ใบเตย | 2 – 3 | ใบ |
น้ำตาลทราย ตามชอบ |
วิธีทำ
- แช่ถั่วเหลืองและถั่วลิสง ในน้ำสะอาด แช่ทิ้งไว้อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- นำถั่วที่แช่น้ำไว้ ล้างจนสะอาด ปั่นกับน้ำเปล่า แล้วกรอง ด้วยผ้าขาวบาง
- ใส่หม้อต้ม ตั้งไฟด้วยไฟปานกลาง ใส่ใบเตย ลงไป
- ตั้งจนเดือด เปลี่ยนเป็นไฟอ่อน
- พร้อมเสิร์ฟทันที คู่กับเครื่องเคียงตามชอบ
Tips
- ขณะตั้งไฟต้องคอยคนตลอดเวลานะคะ เพื่อไม่ให้กากลงไปติดก้นหม้อ
- ถั่วที่แช่น้ำไว้แล้ว ก่อนนำไปใช้ ต้องล้างน้ำหลาย ๆ รอบ เพื่อให้กลิ่นเขียวของถั่วจางลง

น้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลือง คือ เครื่องดื่มที่ทำมาจากถั่วเหลือง ด้วยการนำถั่วเหลืองมาบดปั่นกับน้ำเปล่าแล้วคั้นกรองเอากากทิ้งไป อาจปรุงรสเพิ่มเติมด้วยการใส่เกลือหรือน้ำตาลลงไปด้วย
น้ำเต้าหู้มีโปรตีนจากถั่วเหลือง มีเส้นใยธรรมชาติที่ดีต่อระบบขับถ่าย และมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ สารไอโซฟลาโวน (Isoflavones) หลังจากบริโภคน้ำเต้าหู้ ร่างกายจะเปลี่ยนสารเคมีชนิดนี้ให้เป็นสารไฟโตรเอสโตรเจน (Phytoestrogens) ที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่มีผลต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ และภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนชนิดนี้ ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงคาดว่าส่วนประกอบต่าง ๆ ในน้ำเต้าหู้รวมทั้งสารไอโซฟลาโวนอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ และอาจส่งผลทางการรักษาอาการป่วยบางประการได้
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการค้นคว้าทดลองมากมายถึงคุณประโยชน์ของน้ำเต้าหู้ เพื่อศึกษาว่าน้ำเต้าหู้เป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการหลากหลายหรือไม่ หรือเป็นเพียงสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เท่านั้น
คุณค่าทางโภชนาการของน้ำเต้าหู้
ลดความอ้วน ลดน้ำหนัก และไขมัน
มีงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองประสิทธิผลของนมวัว นมถั่วเหลืองปรุงแต่ง และอาหารเสริมแคลเซียมที่มีผลต่อการลดไขมันในผู้หญิงก่อนวัยทองที่มีภาวะอ้วน และภาวะน้ำหนักเกิน พบว่าการบริโภคนมไขมันต่ำอย่างนมถั่วเหลืองปรุงแต่ง ช่วยลดภาวะอ้วนและภาวะอ้วนลงพุงในกลุ่มตัวอย่างทดลองได้อย่างมีนัยสำคัญ
อีกหนึ่งการทดลองได้เปรียบเทียบประสิทธิผลของน้ำเต้าหู้กับนมวัวขาดมันเนยกับระดับไขมันในเลือดและการทำปฏิกิริยากับผนังเซลล์ไขมัน (Lipid Peroxidation) ในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ผลลัพธ์ที่ได้ชี้ว่าน้ำเต้าหู้มีส่วนช่วยในการลดระดับไขมันในเลือดและลดการเกิดปฏิกิริยาที่สารอนุมูลอิสระทำปฏิกิริยากับกรดไขมันไม่อิ่มตัวในผนังเซลล์ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูง
ส่วนการทดลองเพื่อหาประสิทธิผลในการลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายด้วยเครื่องดื่มที่ทำมาจากถั่วเหลือง โดยทำการทดลองในกลุ่มตัวอย่างชาวฝรั่งเศสที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงในกลุ่มความเสี่ยงระดับปานกลาง ผลที่ได้คือ การบริโภคเครื่องดื่มจากถั่วเหลืองที่มีสารแพลนท์ สเตอรอล (Plant Sterol) ช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลชนิดเลว (non-HDL และ LDL) ลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า น้ำเต้าหู้อาจช่วยควบคุมและลดระดับไขมันในผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงที่อยู่ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง
ความปลอดภัยในการบริโภคน้ำเต้าหู้และถั่วเหลือง
ผู้บริโภคทั่วไป
- การบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลืองหรือมีโปรตีนจากถั่วเหลืองรวมถึงน้ำเต้าหู้ในปริมาณที่เหมาะสม จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค
- การบริโภคโปรตีนถั่วเหลืองในรูปของอาหารเสริมที่สกัดมาจากถั่วเหลืองจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย หากบริโภคติดต่อกันเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 6 เดือน แต่หากบริโภคติดต่อกันในระยะยาว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่สำคัญได้
- การดื่มน้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองเพียงอย่างเดียวเป็นประจำเพื่อทดแทนอาหารชนิดอื่น อาจนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารได้โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้รับสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณเพียงพอ
- การดื่มน้ำเต้าหู้และรับประทานถั่วเหลืองอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ในบางกรณี เช่น ท้องผูก ท้องอืดท้องเฟ้อ คลื่นไส้ หรือมีอาการแพ้ อย่างมีผดผื่นคัน ใบหน้าบวมแดง เป็นต้น ซึ่งผู้ที่พบผลข้างเคียงหลังการบริโภค ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
ผู้ที่ควรระมัดระวังในการบริโภคเป็นพิเศษ
- เด็ก การบริโภคถั่วเหลืองจะปลอดภัยหากรับประทานเป็นเครื่องดื่มหรืออาหารในปริมาณที่พอดี ในบางรายที่แพ้นมผงที่ทำจากนมวัว แพทย์อาจแนะนำให้บริโภคนมผงที่ทำจากถั่วเหลืองแทน แต่ต้องไม่ให้นมที่ทำจากถั่วเหลืองในเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เด็กแพ้ถั่วเหลือง
- สตรีมีครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร การบริโภคถั่วเหลืองจะปลอดภัยหากรับประทานเป็นเครื่องดื่มหรืออาหารในปริมาณที่พอดี แต่อาจเป็นอันตรายได้หากบริโภคในรูปแบบอื่นเพื่อหวังผลทางการรักษา ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำเต้าหู้หรือถั่วเหลืองในปริมาณที่มากจนเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อเด็กทารก
- ผู้ป่วย เนื่องจากปัจจัยทางสุขภาพ ผู้ที่กำลังป่วยหรือมีโรคประจำตัวควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการบริโภคอาหารประเภทใดก็ตาม รวมทั้งการบริโภคน้ำเต้าหู้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากมีข้อสงสัยว่าการดื่มน้ำเต้าหู้หรืออาหารอื่น ๆ ที่ทำมาจากถั่วเหลืองจะส่งผลต่ออาการป่วยของตนหรือไม่ ผู้ป่วยควรสอบถามและปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
การบริโภคน้ำเต้าหู้ในปริมาณที่เหมาะสม
แม้การบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลืองหรือมีโปรตีนจากถั่วเหลืองรวมถึงน้ำเต้าหู้ในปริมาณที่เหมาะสมจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ผู้บริโภคควรศึกษาปัจจัยทางสุขภาพของตนให้ดีก่อนว่าควรดื่มน้ำเต้าหู้หรือไม่ และควรดื่มในปริมาณมากน้อยเพียงใด อาหารที่ทำจากถั่วเหลืองแต่ละชนิดล้วนมีโปรตีนและสารอาหารจากถั่วเหลืองในปริมาณที่แตกต่างกันไป เช่น ในน้ำเต้าหู้ 1 แก้ว อาจมีสารไอโซฟลาโวนประมาณ 30 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มอย่างหลากหลาย เพื่อให้รับสารอาหารที่จะส่งเสริมสุขภาพได้อย่างครบถ้วน
ข้อมูลจาก : พบแพทย์
#ACuisine #เอควิซีน #CherryKitCook #recipe #คลิปสอนทำอาหาร
อยากกิน อยากฟิน อยากทำ อย่าลืมติดตาม A Cuisine (เอควิซีน)
📌Website: https://acuisineth.com/
📌Messenger : http://m.me/AcuisineTH
📌Instagram : www.instagram.com/acuisine.th/
📌Pinterest : www.pinterest.com/AcuisineTH/